กลุ่มไทยลาวส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขต อำเภอพุทธไธสง อำเภอนาโพธิ์ อำเภอหนองกี่ อำเภอคูเมือง อำเภอลำปลายมาส อำเภอบ้านไม่ไชยพจน์และอำเภอแคนดง กลุ่มไทยลาวยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีดั่งเดิม คือ การปฏิบัติตามฮีตสิบสองหรือจารีตในการปฏิบัติทั้ง 12 เดือน ซึ่งจะยึดหลักพระพุทธศาสนาและความเชื่อในด้านนับถือบูชาผีบรรพบุรุษ พญาแถน เป็นต้น ประเพณี ฮีตสิบสอง มีรายละเอียดดั้งนี้
- เดือนเจียงหรือเดือนอ้าย (ธันวาคม) นิมนต์พระสงฆ์มาเข้าปริวาสกรรมหรือเข้ากรรม เพื่อฝึกสำนึกความผิดหรือความบกพร่องของตนและ มุ่งประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ในด้านฆราวาสจะทำพิธีเลี้ยงแถนผีต่างๆ (ผีบรรพบุรุษ)
- เดือนยี่ (มกราคม) ทำบุญคูณข้าว หรือบุญคูณข้าวลาน โดยนิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์เย็นและฉันภัตตาหารเช้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือกเมื่อพระฉันอาหารเช้าเสร็จก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าวต่อไป
- เดือนสาม (กุมภาพันธ์) ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชาเริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเข้าโดยจะทำข้าวจี่ถวายพระสงฆ์พร้อมกับอาหารอื่นๆ ข้าวจี่ที่เหลือจากพระฉันแล้วชาวบ้านจะแบ่งกันรับประทานถือว่าจะเป็นมงคลแก่ตัว
- เดือนสี่ (มีนาคม) ทำบุญเผวส (บุญพระเวส) หรือบุญมหาชาติ มีการฟังเทศน์มหาชาติถือกันว่า ต้องฟังให้จบทุกกัณฑ์ในวันเดียวจึงจะได้กุศล
- เดือนห้า (เมษายน) ตรุษสงกรานต์ หรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่มีการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์
- เดือนหก (พฤษภาคม) ทำบุญบั้งไฟ และทำบุญวิสาขบูชาจะมีการฟังเทศน์ตลอกวัน กลางคืนมีเวียนเทียน สำหรับบุญบั้งไฟก็เป็นพิธีเพื่อ ขอฝนจากเทวดา (แถน) และการบวชนาค
- เดือนเจ็ด (มิถุนายน) ทำบุญซำฮะ เพื่อบูชาเทวดาอารักษ์หลักเมือง โดยพิธีเซ่นบวงสรวงหลักเมืองหลีกบ้าน ผีพ่อแม่ ผีปู่ผีเมือง (ผีบรรพบุรุษ) ผีตาแฮก (เทวดารักษาไร่นา) เพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ
- เดือนแปด (กรกฎาคม) ทำบุญเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ถวายภัตตาหาร เช้าและเพลแด่พระสงฆ์ สามเณรฟังพระธรรมเทศนา ตอนบ่ายและนำขี้ผึ้งมาหล่อเป็นเทียนพรรษาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และจะเก็บไว้ตลอดพรรษา
- เดือนเก้า (สิงหาคม) ทำบุญข้าวประดับดินโดยจัดอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ สุราและนำไปวางไว้ใต้ต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่งพร้อมทั้งเชิญวิญญาณบรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลักไปแล้วให้มารับเอาอาหารไป
- เดือนสิบ (กันยายน) ทำบุญข้าวสาก หรือสลากภัตในวันเพ็ญเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย
- เดือนสิบเอ็ด (ตุลาคม) มีการทำบุญออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตอนเช้าชาวบ้านจะร่วมทำบุญตักบาตร รับศีล ฟังเทศน์ ถวายผ้าจำนำพรรษาจะร่วมทำพิธีออกวัสสาปวารณากลางคืน มีการจุดโคมไฟแขวนไว้ตามต้นไม้ หรือตามริมรั่วของวัด
- เดือนสิบสอง (พฤศจิกายน) ในเดือนนี้จะมีการทำบุญกฐินสำหรับประชาชนที่อยู่ตามริมน้ำจะมีการแข่งเรือด้วย เช่นริมแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ฯลฯ เพื่อระลึกถึงอุสพญานาค หรือบางแห่งจะมีการแห่ปราสาทผึ้งเพื่อถวายพระสงฆ์ และเพื่อเป็นพระพุทธบูชาประเพณี
กิจกรรมทั้ง 12 เดือนนี้ ถือเป็นประเพณีหลักของชาวอีสานทั่วไปที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และประเพณีเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพียงร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้านสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนอีสานที่เต็มไปเดียวความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเสียสละ แรงกายแรงใจเพื่อการกุศล ความสมานสามัคคีตลอดจนความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี
ลักษณะการแต่งกาย
ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มไทยลาว มีชื่อเสียงในเรื่องการทอผ้าไหม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ ผ้าซิ่นตีนแดง
แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่ของจังหวัด มีภูเขาไฟที่ดับแล้ว จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ภูเขาไฟพนมรุ้ง ภูเขาไฟหลุบ ภูเขาไฟอังคาร ภูเขาไฟไปรบัด ภูเขาไฟเขาคอก และภูเขาไฟกระโดง ก่อให้เกิดความหลากหลายทั้งในด้านภูมิศาสตร์ประกอบกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อนสมัยทราวดี จนเกิดเป็นวัฒนธรรมบนเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่
1. เส้นทางสายไหม โดยมีจุดเริ่มต้นจากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ขึ้นไปทางเหนือในพื้นที่ 5 อำเภอ ดังนี้ อนุสาวีย์รัชการที่ 1 ศาลหลักเมืองซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง หลังจากนั้นมุ่งหน้าสู่ทางทิศเหนือผ่านวัดเกาะแก้วธุดงคสถาน (วัดระหาน) อำเภอบ้านด่าน ปรางค์กู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ วัดศรีษะแรด (วัดหงส์) อำเภอพุทไธสง และศูนย์หัตกรรมพื้นบ้าน อำเภอนาโพธิ์
2. เส้นทางสายใต้ภูเขาไฟ ซึ่งจุดเริ่มต้นจากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ มุ่งสู่เส้นทางสายใต้ในพื้นที่ทั้งหมด 6 อำเภอ ดังนี้ อุทยานภูเขาไฟเขากระโดง อำเภอเมือง ปราสาทไปรบัด และปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย พิพิธภัณฑ์บ้านกรวด อำเภอบ้านกรวด วนอุทยานปราสาทพนมรุ้ง และวัดเขาอังคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ วัดป่าละหานทราย อำเภอละหานทราย และอนุสาวรีย์เราสู้ ปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง